ข้อมูลทั่วไป

ประวัติอำเภอดอนจาน
อำเภอดอนจาน จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ 15  กรกฎาคม 2539 โดยแยกออกจากอำเภอเมืองกาฬสินธุ์  สืบเนื่องมาจากเขตปกครองของอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มีพื้นที่กว้างใหญ่ และมีประชากรอยู่ในความรับผิดชอบจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการปกครอง การคมนาคมติดต่อระหว่างหมู่บ้านไม่สะดวก ราษฎรไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ดินทำกิน การเจ็บไข้ได้ป่วย เนื่องจากนี้พื้นที่บางส่วนยังอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงแม่เผดและเคยตกอยู่ภายใต้การคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในขั้นรุนแรง  คณะกรรมการสภาตำบลดอนจาน สภาตำบลดงพยุง สภาตำบลนาจำปา และสภาตำบลม่วงนา จึงได้ร่วมกัน พิจารณาและมีมติเห็นว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และยังแบ่งเบาภาระของอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ด้านการปกครอง ด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย และด้านการพัฒนา ตลอดจนเป็นการกระจายความเจริญไปยังท้องที่ห่างไกล และ เป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนในพื้นที่ จึงเห็นชอบที่จะขอจัดตั้งกิ่งอำเภอ โดยตั้งชื่อว่า กิ่งอำเภอดอนจานแยกเขตการปกครองออกจากอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จำนวน 4 ตำบล 48  หมู่บ้าน ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ตำบล คือ ตำบลสะอาดไชยศรี โดยแยกออกจากตำบลดอนจาน หมู่บ้านมีจำนวนเท่าเดิม  และ ในปี พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 80 พรรษา คณะรัฐมนตรี จึงมีมติให้ยกฐานะ กิ่งอำเภอทุกแห่ง ขึ้นเป็น อำเภอ ตั้งแต่ วันที่ 8 กันยายน 2550 เป็นต้นไป

สภาพทั่วไป
          อำเภอดอนจาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 204.197 ตารางกิโลเมตร 127,623.12 ไร่ มีประชากรทั้งหมด 25,747 คน ชาย 12,979 คน หญิง 12,768 คน (ที่มา: สำนักทะเบียนอำเภอดอนจาน ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2553)
ทิศเหนือ          ติดต่อกับตำบลกลางหมื่น อำเภอเมือง
ทิศตะวันออก     ติดต่อกับตำบลหลักเหลี่ยม อำเภอนามน ตำบลนาขาม อำเภอกุฉินารายณ์
  จังหวัดกาฬสินธุ์ และตำบลอัคคะคำ อำเภอโพธิ์ชัย  จังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศใต้             ติดต่อกับตำบลโคกสมบูรณ์ อำเภอกมลาไสย และตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง  จังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศตะวันตก      ติดต่อกับตำบลเหนือ ตำบลไผ่ และตำบลเชียงเครือ  อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
         
          แบ่งเขตการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 เป็น 5 ตำบล 48 หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 5 แห่ง คือ
1. เทศบาลตำบลดอนจาน                             จำนวน  9   หมู่บ้าน
2. เทศบาลตำบลม่วงนา                                จำนวน  9   หมู่บ้าน
                   3. องค์การบริหารส่วนตำบลสะอาดไชยศรี         จำนวน  8   หมู่บ้าน
                   4. องค์การบริหารส่วนตำบลดงพยุง                  จำนวน  13 หมู่บ้าน
                   5. องค์การบริหารส่วนตำบลนาจำปา                 จำนวน  9   หมู่บ้าน

สภาพภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และเนินเขาสูง ๆ  ต่ำ ๆ จากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก มีป่าไม้กระจายอยู่ทั่วไป และมีลักษณะเป็นดินทราย แยกเป็นพื้นที่ราบ 70,685 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 55.39 เนินเขา 4,705 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.69 พื้นน้ำ 50 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.03 อื่น ๆ 52,183.07 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 40.89

 ด้านการประกอบอาชีพ

ประชากร ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  มีอาชีพหลัก คือ การทำนา อาชีพรองคือการทำไร่ ได้แก่ มันสำปะหลัง  อ้อย  และยางพารา ฯลฯ
                       
ด้านการศึกษา
          ประชากรส่วนใหญ่ มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา มีสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา 2 แห่ง ระดับประถมศึกษา 16 แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ตามอัธยาศัย 1 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 11 แห่ง

ด้านการสาธารณสุข 
อำเภอดอนจาน เป็นพื้นที่ที่ไม่มีโรงพยาบาล มีสถานบริการด้านสาธารณสุข 6 แห่ง (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) สุขศาลา (ศสมช.เดิม) 48 แห่ง

การศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ที่สำคัญ คือ งานประเพณีบุญกุ้มข้าว งานนมัสการปิดทองหลวงปู่ใหญ่ งานประเพณีลอยกระทง งานประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ งานแห่เทียนเข้าพรรษา ตักบาตรเทโวโรหนะ เป็นต้น

สถานที่สำคัญ มีดังนี้
พุทธสถานหลวงปู่ใหญ่ ตั้งอยู่บ้านกุดครอง หมู่ที่ 4 ตำบลดอนจาน อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์  อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โดยสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเก็บเครื่องรางของขลัง อยู่ยง คงกะพันมากมาย หลายอย่าง ของคนโบราณ และปั้นพระพุทธรูปหุ้มไว้ จึงได้รับการขนานนามว่า หลวงปู่ใหญ่  ปัจจุบันได้มีการปั้นพระพุทธรูปปูนหุ้มองค์หลวงปู่ใหญ่  โดยในเดือนเมษายนของทุกปี ราษฎรตำบลดอนจาน และตำบลใกล้เคียง  ได้ร่วมกันจัดงาน สักการะบูชาหลวงปู่ใหญ่ ขึ้นทุกปี จนเป็นงานประเพณีที่สำคัญของอำเภอดอนจาน

น้ำตกถ้ำไทรย้อย ตั้งอยู่บนหลังเขาถ้ำผาแดง บ้านสายป่าแดง หมู่ที่ 4 ตำบลสะอาดไชยศรี ซึ่งเป็นเขตที่พักสงฆ์ถ้ำผาแดง ลักษณะของน้ำตก จะมีน้ำผุดไหล เป็นธารยาวลงมาที่หน้าผาตรงต้นไทรหน้าถ้ำ ชาวบ้านจึงเรียกน้ำตก ถ้ำไทรย้อย โดยน้ำผุดแหล่งนี้ จะไหลไม่หยุดทุกฤดู แม้ฤดูร้อนเดือนเมษายน  ก็ยังมีน้ำผุดขึ้นมาไหลเป็นธารลงไปเป็นน้ำตกถ้ำไทรย้อย  ปัจจุบัน สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ขึ้นทะเบียนน้ำตกถ้ำไทรย้อยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่แปลกประหลาด (UNSEEN) ของจังหวัดกาฬสินธุ์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดสรรงบประมาณ ให้สร้างถนนลาดยางไปยังน้ำตกถ้ำไทรย้อยเป็นระยะทาง 7 กิโลเมตร ทำให้การไปท่องเที่ยวหรือไปเที่ยวชมน้ำผุดที่แปลกประหลาด ที่ผุดขึ้นมาจากสันภูเขา ไหลลงมาเป็นน้ำตกถ้ำไทรย้อยที่ให้ความชุ่มชื่น และสวยงาม แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก ซึ่งมีระยะทางห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ เพียง  35  กิโลเมตร เท่านั้น
พระพุทธไสยาสน์ดอยดงเย็น ตั้งอยู่วัดดอยดงเย็น บ้านดงเย็น หมู่ที่ 4 ตำบลนาจำปา อำเภอดอนจาน  จังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากตัวอำเภอ ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นพระพุทธไสยาสน์องค์ที่ 4 ของจังหวัดกาฬสินธุ์  สร้างเมื่อ เมื่อ ปี พ.. 2535 โดยพระครูสุชัยมงคลกิจ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล เจ้าคณะตำบลนาจำปา ได้เล็งเห็นว่าวัดดอยดงเย็นเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ภาวนา และศึกษาพระธรรมวินัย เพราะเป็นดอยที่ไม่สูงนัก มีต้นไม้ปกคลุมสวยงาม ยอดเขาเป็นโขดหินและโพรงถ้ำจึงให้ช่างที่มีฝีมือในการแกะสลัก มาแกะสลักหินเป็นพระพุทธไสยาสน์ โดยตั้งชื่อว่า พระพุทธไสยาสน์ดอยดงเย็น
อ่างเก็บน้ำห้วยแกง ตั้งอยู่บ้านดงเย็น หมู่ที่ 4 ตำบลดงพยุง อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 12 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของ สำนักงานโครงการชลประทานจังหวัดกาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำห้วยแกงเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการเกษตร มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 2,400 ไร่  นอกจากนี้อ่างห้วยแกงยัง เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และจัดงานประเพณีลอยกระทง